MotoGP “ไปต่อ” หรือ “พอแค่นี้” ? ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร ?

คำถามตัวโตๆ เกิดขึ้นหลังการแข่งขัน MotoGP ฤดูกาล 2025 ที่เปิดฉากในประเทศไทยจบลง คือกระแสข่าวการไม่ต่อสัญญาหลังจบการแข่งขันปี 2026 สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะได้อะไรจากการจัดการแข่งขัน MotoGP ?
สัญญาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน MotoGP ของประเทศไทย ปี 2026 จะเป็นปีสุดท้าย โดยหลักการต่อสัญญาเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาล กับเจ้าของสิทธิ์จัดการแข่งขัน นั่นก็คือ Dorna Sports ซึ่งปัจจุบันถูกเทคโอเวอร์จาก Liberty Media เจ้าของรายการ F1 ไปแล้ว แต่ยังให้สิทธิ์การบริหารงานกับ Dorna Sports อยู่ เหตุผลง่ายๆ ที่ต้องทำสัญญากับรัฐบาล เป็นเรื่องของความเชื่อมั่น เพราะรายการใหญ่ระดับโลกต้องการความแน่นอนในการจัดการดังนั้นการทำสัญญากับรัฐบาลจึงสร้างความเชื่อมั่นได้มากกว่าทำสัญญากับเอกชนที่พร้อมจะเท แล้วหนีหายได้ทุกเมื่อ ถึงเวลานั้นจะไปฟ้องร้องเอาค่าเสียหายจากใครไม่ได้

ค่าลิขสิทธิ์จัดการแข่งขันเท่าไหร่?
ประเทศไทยมีสัญญาอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรก 3 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ปีละประมษณ 300 ล้านบาท รวม 3 ปี 900 ล้านบาท หลังจากนั้นมีการต่อสัญญาฉบับที่ 2 ซึ่งเซ็นกันยาว 5 ปี ซึ่งจะหมดสัญญาปีหน้า สัญญาใหม่ราคาค่าลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10% ทำให้สัญญาฉบับใหม่รวม 5 ปี จะมีค่าลิขสิทธิ์อยู่ที่ประมาณ 1,784 ล้านบาท
ใครเป็นคนออกเงิน ?
นอกจากเงินค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์อย่าง Dorna Sports แล้ว ยังมีเงินอื่นๆ ที่ต้องเอามาจ่ายเป็นค่าจัดงานอีก สองพันกว่าล้านบาท (ปี 2022 – 2026) โดยทางรัฐบาลจะรับผิดชอบจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียงแค่ครึ่งเดียวของค่าลิขสิทธิ์ ดังนั้น เมื่อตัวเลขกลมๆ ค่าลิขสิทธิ์ประมาณ 356 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณครึ่งหนึ่งของค่าลิขสิทธิ์ ประมาณ 178 ล้านบาท รวม 5 ปี รัฐบาลสนับสนุน 890 – 900 ล้านบาท ส่วนค่าลิขสิทธิ์อีกครึ่งหนึ่งทางรัฐบาลมอบหมายให้การกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นหัวเรือใหญ่ในการรวบรวมเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเอามาจ่ายค่าลิขสิทธิ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งหมดการกีฬาแห่งประเทศไทยก็ต้องเป็นคนหามาจากภาคเอกชนอีกด้วย
พอกดเครื่องคิดเลขแล้ว ค่าลิขสิทธิ์และค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขัน MotoGP ตลอด 5 ปี รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 3,200 ล้านบาท (รัฐบาลออกเงิน 900 ล้านบาท)

สถิติแต่ละปีของ ThaiGP
ผู้เข้าชม
- ปี 2018 – 222,535 คน ได้รางวัล Best Grand Prix of The Year
- ปี 2019 – 226,655 คน
- ปี 2022 – 178,463 คน (หลังโควิด)
- ปี 2023 – 178,959 คน
- ปี 2024 – 205,343 คน
- ปี 2025 – 224,634 คน
มูลค่าทางเศรษฐกิจ
- ปี 2018 – 3,100 ล้านบาท
- ปี 2019 – 3,783 ล้านบาท
- ปี 2022 – 4,000 ล้านบาท (หลังโควิดระบาด)
- ปี 2023 – 4,500 ล้านบาท
- ปี 2024 – 4,700 ล้านบาท
- ปี 2025 – 5,000 ล้านบาท

ประเทศไทย ได้อะไรจากการจัดแข่ง MotoGP ?
แน่นอนว่าใครหลายทั้งที่เป็นแฟนๆ และไม่ใช่แฟนๆ จะต้องมีคำถามที่เกิดขึ้นในหัวว่าจัด MotoGP ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร
การใช้จ่ายระหว่างเดินทาง
ข้อดีสำหรับประเทศไทยอย่างหนึ่งของการจัดอีเว้นท์ใหญ่นอกเมืองหลวงก็คือการใช้จ่ายเงินตั้งแต่ก้าวขาออกจากบ้านมาจนระหว่างทางและถึงสนามที่ใช้จัดการแข่งขันทุกคนต้องกินต้องใช้เมื่อมีการเดินทางก็จะต้องมีการใช้จ่ายเป็นเรื่องธรรมสิ่งเหล่านี้คือส่วนที่ไม่สามารถเก็บข้อมูลเป็นตัวเลขได้
นอกจากคนไทยแล้วชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาก็มีการใช้จ่ายมากกว่าชาวไทยไปอีก จุดประสงค์ของการจัดงานที่แฝงอยู่คือความต้องการให้ชาวต่างชาติได้ไปเที่ยวต่อหลังจากจบอีเว้นท์ ตรงจุดหากเจ้าของธุรกิจไหนมองเห็นหนทางสามารถทำตลาดดึงดูดให้ชาวต่างชาติจองทัวร์ไปเที่ยวต่อกับตัวเองได้ ซึ่งปี 2025 มีชาวต่างชาติเข้ามาร่วมงานถึง 52,069 คน

เงินที่เข้ากระเป๋ารัฐ
ทีมแข่งส่งรถแข่งและอุปกรณ์ต่างๆเข้ามาในประเทศไทย ผ่านสนามบิน ก็ต้องจ่ายภาษีขาเข้า–ขาออก
- นักแข่งขึ้นเครื่องบินมาก็ต้องจ่ายภาษีตั๋วเครื่องบิน
- มาถึงสนามบินก็ต้องเช่ารถยนต์เพื่อเดินทาง บริษัทเช่ารถได้ค่าเช่าแต่ก็ต้องจ่ายภาษี
- ทีมแข่งทีมหนึ่งมีคนประมาณ 20 คนเป็นอย่างน้อย ไปพักโรงแรมๆก็ต้องจ่ายภาษี
- ทีมแข่งไปกินข้าวตามร้านอาหารก็ต้องจ่ายภาษีแวะซื้อของใช้ร้านสะดวกซื้อร้านก็ต้องจ่ายภาษี
- รถแข่งหนึ่งคันมีของแต่งอุปกรณ์สารพัดยี่ห้อ ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยสั่งมาขายๆได้ก็ต้องจ่ายภาษี
- การแข่งรถต้องใช้น้ำมันต่างๆ น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่อง น้ำยาหล่อเย็น น้ำยาทำความสะอาด บริษัทขายน้ำมันได้ก็ต้องจ่ายภาษี
- ตัวแทนจำหน่ายบริษัทยางในไทยก็ต้องจ่ายภาษี
- ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ร้านจิปาถะสารพัด มาออกบูทขายสินค้าขายได้ก็ต้องจ่ายภาษี
- สนามแข่งรถได้ค่าเช่าพื้นที่จากแบรนด์ต่างๆก็ต้องจ่ายภาษี
ที่ไล่เรียงมาเป็นแค่บางส่วนที่มองเห็นได้ชัดเจนจากการจัดงานที่รัฐได้รับรายได้โดยตรง ยังไม่รวมเงินภาษีที่ได้มาจากทางอ้อมที่เหล่าประชาชน ร้านค้า โรงแรม เจ้าของกิจการต่างๆ ได้เงินจากการจัดการแข่งขัน รวมๆ แล้วที่ทางหน่วยงานของรัฐนับภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ก็คือ 318 ล้านบาท
นอกจากนี้ข้อมูลจากเพจ “ลุงเนวิน” ได้มีการโพสต์ระบุว่า “รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และรายได้จากผู้สนับสนุนการแข่งขัน หรือ สปอนเซอร์ เป็นของรัฐบาล ทั้งหมด บริษัทบุรีรัมย์ยูไนเต็ด อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จำกัด ในฐานะเจ้าของสนามช้างฯ ไม่มีรายได้ทางตรง จากการจัดการแข่งขัน และต้องเสียรายได้จากการส่งมอบสนามให้รัฐบาลใช้เตรียมการจัดการแข่งขันและแข่งขัน เป็นเวลา 1 เดือน (คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านบาท)”
นั่นหมายความเม็ดเงินทั้งหมดที่ได้จากการขายบัตรจะต้องนำส่งรัฐบาลทั้งหมด

เกิดการการจ้างงาน
แน่นอนว่าเมื่อมีอีเว้นท์จะต้องมีการจ้างคนมาทำงานในส่วนต่างๆ ปี 2025 หน่วยงานรัฐได้เก็บข้อมูลออกมาแล้วว่ามีการจ้างงานมากถึง 7,772 คน ตรงนี้ยังเป็นห่วงโซ่ที่จะส่งผลต่อจากการแข่งขันจบลงที่เเหล่าผู้ถูกว่าจ้างจะได้รับเงินแล้วเอาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันกลายเป็นมูลค่าที่ไม่สามารถติดตามประเมินผลได้อีก
ชื่อเสียงออกไปสู่สายตาชาวโลก
MotoGP มีการถ่ายทอดสดไปยังสายตาผู้รับชม 800 ล้านคนทั่วโลก ได้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการแข่งขันระดับโลก ทำให้ได้รู้ว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนของแผนที่โลก ทำให้อยากรู้จักประเทศไทยมากขึ้น การค้นหาข้อมูลต่างๆ ในอินเตอร์เน็ต และรวมถึงการมาเที่ยวที่ประเทศไทย

MotoGP ประเทศไทย ควรไปต่อ หรือ พอแค่นี้ ?
ในเมื่อตัวเลขต่างๆ ที่ออกมาไม่ว่าจะเป็นตัวเลขของผู้ชมรวมไปถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจที่จัดเก็บโดยหน่วยงานของรัฐมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ยังมีเหตุผลอะไรที่จะไม่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อไป? เพราะกดเครื่องคิดเลขแล้วมองมุมไหนประเทศไทยก็ได้กำไร การที่รัฐบาลสนับสนุนงบลงมาให้ไม่เกิน 500 ล้านบาท แล้วให้เอกชนช่วยซัพพอร์ตต่ออีก 300 ล้านบาท แต่การได้กลับคืนมาหมุนเวียนในประเทศด้วยตัวเลขระดับ 4,000 – 5,000 ล้านบาท จะต้องหาเหตุผลอะไรมาไม่ต้อสัญญาเป็นเจ้าภาพ MotoGP อีก
Source Cr.: กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, เพจลุงเนวิน
อ่านข่าว News Talk เพิ่มที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish