อย่าเพิ่งตกใจ… กับภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ ที่เตรียมคิดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ
หลังจากเห็นข่าวเรื่องการพิจารณาภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ โดยเปลี่ยนเป็นการคิดภาษีตามค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามข่าวด้านล่างนั้น ทีมงานอยากจะบอกว่า
ใจเย็นไว้ก่อน… สำหรับประเด็นการพิจารณามาตรการภาษีจากการคิดภาษีตามค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ประเด็นแรกต้องผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ประเด็นถัดมาเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะกระทบกับผู้ผลิตก่อนเป็นอันดับแรกที่ต้องควบคุมเทคโนโลยีการผลิตให้รถปล่อยมลพิษน้อยลง โดยผู้ผลิตโซนยุโรปได้ปรับตัวกันไปแล้วก่อนหน้านี้ และปัจจุบันก็มองไปถึงมาตรฐาน ยูโร 5 เป็นที่เรียบร้อย
หากมาตรการนี้ออกมาจริงๆ ในปี 2563 การผลิต และจัดจำหน่ายสำหรับประเทศไทย ผู้ผลิต และผู้นำเข้าคงต้องพิจารณาเรื่องของสเป็คให้เหมาะสมกับมาตรการ และพยายามควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานเป็นอย่างดี เรื่องการผลิตคงไม่มีปัญหามากนัก เพราะสามารถใช้เทคโนโลยีจากบริษัทแม่ที่ผลิตขายรถในโซนยุโรปได้อยู่แล้ว แต่สำหรับการผลิตในไทยอาจทำให้ต้นทุนปรับตัวขึ้นบ้าง ส่วนการตั้งราคาจำหน่ายนั้น คาดว่าจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากไม่สามารถควบคุมได้ก็จะทำให้ราคาของตัวรถเพิ่มขึ้นตามลำดับกำแพงภาษี นั่นหมายถึงอาจการส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทด้วย
สำหรับการคิดภาษีตามค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เล็งเก็บกับรถจักรยานยนต์ได้ใช้กับภาษีรถยนต์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตคำนึงสิ่งแวดล้อม การใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัด และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลดลง ทั้งหมดนี้ผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่ายต้องปรับตัวกันอย่างมาก เพื่อให้ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคในเรื่องราคาให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
ส่วนผู้บริโภคอย่างเราที่เป็นปลายทางที่ต้องรอลุ้นว่า ผู้ผลิตจะควบคุมให้อยู่ในมาตรการได้หรือไม่ ถ้าไม่จะอยู่ในกลุ่มใดที่ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างอัตราภาษีเดิมรถบิ๊กไบค์จะเสียภาษีสูงสุดที่ 9% คือถ้ารถ 1,000,000 บาท จะเสียภาษี 1,090,000 บาท แต่ภาษีใหม่ถ้าอยู่ในกลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป กำแพงภาษีสูงสุดจะอยู่ที่ 18% ทำให้ราคาจาก 1,000,000 บาท เป็น 1,180,000 บาทเลยทีเดียว
แต่อย่างน้อยค่ายผู้ผลิตเขาต้องมีเทคโนโลยีไว้รองรับอยู่แล้ว อย่างที่เราเห็นรถบิ๊กไบค์ของเมืองนอกที่มีการปรับตัวด้วยการลดพละกำลังลงนิดหน่อย และมีแคทตาไลติก, ท่อไอเสียที่ใหญ่ขึ้นเป็นปืนโตประมาณนั้น
ด้านล่างนี้เป็นข้อมูลการรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลที่ เปิดเผยว่า
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆนี้ จะมีพิจารณามาตรการภาษีสำหรับยานพาหนะเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (พีเอ็ม 2.5) ระยะสอง ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอัตราและรูปแบบการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของรถจักรยานยนต์ใหม่ จากเดิมคิดภาษีตามขนาดของเครื่องยนต์ (ซีซี) เปลี่ยนเป็นการคิดภาษีตามค่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับภาษีรถยนต์ เพื่อต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลง
ส่วนแนวทางการจัดเก็บภาษีจะมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เก็บภาษีตามขนาดเครื่องยนต์ในช่วง 2.5-9% เปลี่ยนเป็นตามขนาดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ซึ่งเพิ่มเป็น 3-18% ซึ่งจะส่งผลให้รถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก หรือมีเทคโนโลยีการใช้น้ำมันน้อยได้รับผลเล็กน้อยหรือาจเสียภาษีต่ำลง แต่ในทางกลับกันหากเป็นรถขนาดใหญ่ หรือรถบิ๊กไบก์ที่มีการใช้น้ำมันและปล่อยมลพิษเยอะก็อาจถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น
“อัตราภาษีเดิมรถบิ๊กไบก์จะเสียภาษีสูงสุดที่ 9% แต่ภาษีใหม่เก็บสูงสุด 18 % ทำให้มีต้นทุนเพิ่มอีก 9% ดังนั้น ถ้ารถบิ๊กไบก์คันละ 1 ล้านบาท ราคาอาจสูงขึ้นจากเดิมอีก 9 หมื่นบาท หรือหากเป็นรถมอเตอร์ไซต์ขนาดเล็กทั่วไป คันละ 50,000 บาท ก็อาจขึ้นแค่คันละ 250 บาท แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการเทคโนโลยีการผลิตของผู้ประกอบการด้วย ถ้าปล่อยก๊าซพิษน้อยลงก็จะได้ประโยชน์จากภาษีครั้งนี้”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หาก ครม.เห็นชอบจะมีการเปิดโอกาสให้เวลาผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิต หรือผู้นำเข้าปรับตัว โดยบังคับใช้อัตราภาษีใหม่ในปี 63 ซึ่งการเก็บภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์จะเรียกเก็บเฉพาะรถใหม่ที่ออกมาจากโรงงาน หรือนำเข้ามาเพียงครั้งเดียว ซึ่งการปรับปรุงการจัดเก็บภาษีครั้งนี้ รัฐบาลไม่ได้มีเป้าหมายต้องการรีดเก็บภาษีจากประชาชน แต่ต้องการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซค์ให้ปล่อยก๊าซพิษลดลงแก้ปัญหาฝุ่นพิษในอากาศ
สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ใหม่ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาดว่าจะแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 50 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 3%
- กลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 50-100 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 5%
- กลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 100-130 กรัมต่อกิโลเมตร จะเสียภาษี 9%
- กลุ่มที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 130 กรัมต่อกิโลเมตรขึ้นไป เสีย 18%
รายงานข่าวแจ้งเติมว่า การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตใหม่ตามค่าการปล่อยมลพิษ กลุ่มรถจักรยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ รถบิ๊กไบค์ เนื่องจากมีการปล่อยค่าไอเสียค่อนข้างมาก และเป็นผลจากการใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ส่วนรถจักรยานยนต์ทั่วไปไม่น่าเป็นห่วง อย่างไรก็ตามในปีหน้าค่ายรถจักรยานยนต์จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ เพราะมีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงสร้างภาษีรวมถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะมาตรฐานยูโร 4 จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มแน่นอน
Source Cr.: ข่าวสด
อ่านข่าว News Talk เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish