Home  »  News Talk   »   ยันชัด!! จักรยานยนต์ใส่ท่อไอเสียไม่มี มอก. “ไม่ผิดกฎหมาย”

ยันชัด!! จักรยานยนต์ใส่ท่อไอเสียไม่มี มอก. “ไม่ผิดกฎหมาย”

ยันชัด!! จักรยานยนต์ใส่ท่อไอเสียไม่มี มอก. "ไม่ผิดกฎหมาย" | MOTOWISH 146

จากที่มีกรณีชาวไบค์เกอร์ได้เปลี่ยนท่อไอเสียให้กับรถสุดรัก แต่เจอตำรวจเรียก และแจ้งข้อหาว่าท่อที่เปลี่ยนมาไม่มี มอก. หรือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เปลี่ยนท่อไอเสียมา งงเป็นไก่ตาแตกว่า มอก. เกี่ยวอะไรกับผู้ใช้รถด้วยล่ะเนี่ย

ซึ่งในความเป็นจริง มอก. หมายถึงข้อกำหนดที่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.)ได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางแก่ผู้ผลิตสินค้า เพื่อให้ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับการใช้งาน

จึงเกิดคำถามว่าทำไมไม่ไปตรวจจับกวดขันผู้ผลิตต้นทางเล่า?

 

เมื่อเกิดกรณีนี้ทำให้ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมได้ยื่นเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้  ล่าสุดทางชมรมได้รับจดหมายตอบกลับจาก สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้รับการยืนยันว่า “ผู้บริโภค ซื้อท่อไอเสียมาเปลี่ยน โดยไม่มีมอก. ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย”

ยันชัด!! จักรยานยนต์ใส่ท่อไอเสียไม่มี มอก. "ไม่ผิดกฎหมาย" | MOTOWISH 147

ข้อความจากชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม

เรียนพี่น้องประชาชนและสมาชิกทุกท่าน

 

ชมรมฯ ขอแจ้งไปยังพี่น้องประชาชนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ และตำรวจจราจรทั่วประเทศให้ทราบว่า ตามที่ท่านถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ทำการจับกุมตามพรบ.รถยนต์ 2522 ในข้อหาดัดแปลงสภาพรถท่อไอเสีย โดยไม่มีมอก.

 

ขอแจ้งให้ทราบว่า ทางชมรมฯ ได้ทำหนังสือไปยังเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม เพื่อขอหารือในข้อกฎหมายดังกล่าว ขอยืนยันว่า วันนี้ ทางเลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ได้ตอบหนังสือกลับมาแล้วว่า การที่ผู้บริโภค ซื้อท่อไอเสียมาเปลี่ยน โดยไม่มีมอก. ถือว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่อยากให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่มี มอก.จะดีกว่า

 

ดังนั้น ทางชมรมฯ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกท่าน เก็บเอกสารฉบับนี้ไว้ยืนยันต่อตำรวจจราจรที่จับกุมท่านในข้อหาดังกล่าว แสดงเอกสารหลักฐานให้ดูว่า สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ได้ยืนยันมาแล้วว่าไม่ผิดกฎหมายในข้อหาดัดแปลงสภาพรถท่อไอเสีย (ไม่มี มอก.) ตามพรบ.รถยนต์ 2522

 

จึงแจ้งมาเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

ยันชัด!! จักรยานยนต์ใส่ท่อไอเสียไม่มี มอก. "ไม่ผิดกฎหมาย" | MOTOWISH 2

แต่ข้อควรระวังสำหรับการเปลี่ยนท่อไอเสีย ถึงแม้ว่าท่อที่ไม่มีมอก. จะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกจับ แต่จะมีกฎหมายอีกข้อคือ ท่อที่เปลี่ยนมา เสียงต้องดังไม่เกิน 95 เดซิเบล ซึ่งการวัดนั้นต้องได้รับการวัดอย่างถูกต้องตามมาตราฐานที่กำหนดไว้ แต่ถ้าวัดอย่างถูกต้องแล้ว ดังเกินมาตราฐานกำหนดจะต้องเสียค่าปรับสูงสุด 1,000 บาท

ข้อกำหนดระดับเสียง และวิธีการวัดระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ (บางส่วน)

ข้อ ๕  การเตรียมการตรวจวัด

(๑)  สถานที่สำหรับทำการตรวจวัดระดับเสียง ต้องเป็นพื้นราบทำด้วยคอนกรีตหรือแอสฟัลต์หรือวัสดุที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนเสียงได้ดี และเป็นที่โล่ง ซึ่งมีระยะห่างจากรถจักรยานยนต์ที่จะทำการตรวจวัดตั้งแต่ ๓ เมตรขึ้นไป

 

(๒)  ปรับเครื่องวัดระดับเสียงไว้ที่วงจรถ่วงน้ำหนัก “A” (Weighting Network “A”) และที่ลักษณะความไวตอบรับเสียง “Fast” (Dynamic Characteristics “Fast”) รวมทั้งต้องสอบเทียบกับเครื่องกำเนิดเสียงมาตรฐาน เช่น พิสตันโฟน (Piston Phone) หรืออะคูสติค คาลิเบรเตอร์ (Acoustic Calibrator) หรือสอบเทียบ ตามที่ระบุไว้ในคู่มือการใช้งานของผู้ผลิตเครื่องวัดระดับเสียง

 

(๓)  เครื่องมือทั้งหมดที่ใช้ในการตรวจวัด รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้สนับสนุนการวัดที่มีผลต่อค่าความแม่นหรือความใช้ได้ของผลการตรวจวัด ต้องได้รับการสอบเทียบตามระยะเวลาที่กำหนด

 

 

ข้อ ๖  การตรวจวัดระดับเสียง ให้กระทำ ดังนี้

(๑)  ทำการวัดระดับเสียงของสภาพแวดล้อมและลมในขณะนั้นก่อน ระดับเสียงของสภาพแวดล้อมและลมที่วัดได้ในบริเวณสถานที่ตามข้อ ๕ (๑) ต้องไม่เกิน ๘๕ เดซิเบล เอ

 

(๒)  ให้จอดรถจักรยานยนต์อยู่กับที่ในตำแหน่งเกียร์ว่าง และเดินเครื่องยนต์จนกระทั่งถึงอุณหภูมิใช้งานปกติ หรือไม่น้อยกว่า ๕ นาที ก่อนทำการตรวจวัด ถ้ามีขอบทางเท้าจะต้องจอดรถจักรยานยนต์ห่างจากขอบทางเท้าอย่างน้อย ๑ เมตร

 

(๓)  ติดตั้งเครื่องวัดระดับเสียงโดยหันแกนความไวสูงสุดของไมโครโฟน ให้เป็นไปตามตำแหน่งและวิธีการ ดังต่อไปนี้

 

(ก)  กรณีรถจักรยานยนต์มีท่อไอเสียท่อเดียว ให้ตั้งไมโครโฟนในระดับเดียวกันกับปลายท่อไอเสีย และสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า ๐.๒ เมตร หันไมโครโฟนเข้าหาปลายท่อไอเสีย แกนไมโครโฟนจะต้องขนานกับพื้นและทำมุม ๔๕ องศากับปลายท่อไอเสีย โดยมีระยะห่างจากปลายท่อไอเสีย ๐.๕ เมตร

 

(ข)  กรณีที่ท่อไอเสียมีสองท่อหรือมากกว่า ซึ่งต่อจากหม้อพักใบเดียวกัน และมีระยะห่างระหว่างปลายท่อไอเสียไม่มากกว่า ๐.๓ เมตร ให้ดำเนินการตามข้อ ๖ (๓) (ก) เว้นแต่ให้ถือระยะและทิศทางของท่อไอเสียด้านนอกของรถจักรยานยนต์เป็นเกณฑ์

 

(ค)  กรณีที่ท่อไอเสียมีสองท่อหรือมากกว่า ซึ่งต่อจากหม้อพักใบเดียวกันโดยมีระยะห่างระหว่างปลายท่อไอเสียมากกว่า ๐.๓ เมตร หรือในกรณีที่ท่อไอเสียต่อจากหม้อพักคนละใบ ไม่ว่าจะมีระยะห่างระหว่างปลายท่อไอเสียเท่าใด ให้ดำเนินการตามข้อ ๖ (๓) (ก) ทุกท่อ และให้ใช้ค่าสูงสุดที่วัดได้

 

(๔)  วัดระดับเสียงโดยเร่งเครื่องยนต์ให้มีความเร็วรอบเท่ากับสามในสี่ของความเร็วรอบสูงสุดกรณีเครื่องยนต์มีความเร็วรอบสูงสุดไม่เกิน ๕,๐๐๐ รอบต่อนาที หรือเร่งเครื่องยนต์ให้มีความเร็วรอบเท่ากับกึ่งหนึ่งของความเร็วรอบสูงสุด กรณีเครื่องยนต์มีความเร็วรอบสูงสุดเกินกว่า ๕,๐๐๐ รอบต่อนาที จนกระทั่งเครื่องยนต์ทำงานด้วยความเร็วรอบคงที่แล้วปล่อยให้เครื่องยนต์กลับไปที่ความเร็วรอบเดินเบาโดยอ่านค่าความเร็วรอบจากเครื่องวัดความเร็วรอบเครื่องยนต์

 

(๕)  ให้ตรวจวัดระดับเสียง ๒ ครั้ง และให้ถือเอาค่าสูงสุดที่วัดได้เป็นระดับเสียงของรถจักรยานยนต์

 

(๖)  ถ้าค่าระดับเสียงจากการตรวจวัดทั้ง ๒ ครั้ง แตกต่างกันเกินกว่า ๒ เดซิเบล เอ ให้ตรวจวัดระดับเสียงโดยเริ่มต้นใหม่

 

(๗)  การอ่านค่าระดับเสียงของรถจักรยานยนต์ที่ทำการตรวจวัดจะต้องไม่มีบุคคลหรือสิ่งกีดขวางอยู่ภายในบริเวณ ๐.๕ เมตร จากไมโครโฟนของเครื่องวัดระดับเสียง

Source Cr.: ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม

อ่านข่าว News Talk เพิ่มเติมได้ที่นี่


 

เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่

Website : motowish.com 

Facebook : facebook.com/motowish



ห้ามคัดลอกบทความหรือเนื้อหาในเว็บ Motowish