จบกันชาวสองล้อ!! ราชกิจจาฯ ประกาศ ห้ามขึ้น 39 สะพาน และลอด 5 อุโมงค์ มีผลทันที!!
ก่อนหน้านี้ได้มีพวกเราชาวสองล้อกลุ่มหนึ่งได้เสียสละเป็นตัวแทนของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ออกมาต่อสู้ และเรียกร้องความเท่าเทียมในการใช้รถใช้ถนนในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์สามารถขึ้นสะพาน หรือลงอุโมงค์ ได้เฉกเช่นเดียวกับรถยนต์
แต่แล้วล่าสุดสิ่งที่ชาวสองล้อได้เรียกร้องก็มีอันต้องจบ เมื่อราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ‘ข้อบังคับจราจรฯ’ ห้ามมิให้รถจักรยานยนต์ ขึ้นสะพานข้ามแยก จำนวน 39 สะพาน และลงอุโมงค์ 5 แห่ง นอกจากนี้ยังรวมถึงรถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด แต่มีข้อยกเว้นข้อหนึ่งให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถใช้งานได้ขณะปฏิบัติหน้าที่
ประกาศราชกิจจานุเบกษา มีรายละเอียดดังนี้
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ในเล่ม 133 ตอนพิเศษ 162 ง ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 22 กรกฎาคม 2559
“ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559”
ด้วยสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอุโมงค์ลอด ทางร่วมทางแยก สร้างขึ้นเพื่อใช้สําหรับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางร่วมทางแยกและบนถนน ที่มีการจราจรคับคั่ง โดยลักษณะทางกายภาพของสะพานข้ามและอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สําหรับรถขนาดเล็กที่มีความเร็วต่ำ เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น หากรถประเภทดังกล่าวเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ทําให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทําให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับได้มีการทดลองห้ามรถประเภทดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสามารถลดปัญหาการจราจรได้และประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร จึงจําเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนนและการจราจรในปัจจุบัน
ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา139 (4) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 529/2555 ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2555 แต่งตั้งผู้บัญชาการตํารวจนครบาล เป็นเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบกับคําสั่งกองบัญชาการตํารวจนครบาล ที่ 402/2558 ลงวันที่ 30 ตุลาคม2558 เรื่อง การกําหนดลักษณะงานและการมอบหมายอํานาจหน้าที่รับผิดชอบให้รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล โดยมอบอํานาจให้รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล (งานจราจร) กํากับการบริหารราชการสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตํารวจนครบาล จึงได้ออกข้อบังคับไว้ ดังนี้
ข้อ 1. ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ํา และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559”
ข้อ 2. ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา(ประกาศ ณ 22 กรกฎาคม 2559 จึงมีผล 23กรกฎาคม 2559)
ข้อ 3. ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำ ดังต่อไปนี้
- สะพานยกระดับข้ามแยกคลองตัน
- สะพานข้ามแยกอโศกเพชร
- สะพานข้ามแยกรามคําแหง
- สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์
- สะพานข้ามแยกสามเหลี่ยมดินแดง
- สะพานข้ามแยกตึกชัย
- สะพานข้ามแยกราชเทวี
- สะพานข้ามแยกประตูน้ํา
- สะพานข้ามแยกยมราช
- สะพานข้ามแยกกําแพงเพชร
- สะพานข้ามแยกรัชดา – ลาดพร้าว
- สะพานข้ามแยกสุทธิสาร
- สะพานข้ามแยกรัชโยธิน
- สะพานข้ามแยกประชานุกูล
- สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง
- สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน
- สะพานยกระดับข้ามแยกบนถนนสุวินทวงศ์
- สะพานข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคําแหง
- สะพานข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคําแหง
- สะพานข้ามแยกมีนบุรี
- สะพานข้ามแยกสถานีบรรจุสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร
- สะพานข้ามแยกลําสาลี
- สะพานยกระดับข้ามแยกบนถนนรามคําแหง
- สะพานข้ามแยกศรีอุดม
- สะพานข้ามแยกประเวศ
- สะพานข้ามแยกบางกะปิ
- สะพานไทย – เบลยี่ยม
- สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่
- สะพานข้ามแยกรัชดาพระราม 4
- สะพานภูมิพล 1
- สะพานข้ามแยกคลองตัน
- สะพานข้ามแยกศิครินทร์
- สะพานไทย – ญี่ปุ่น
- สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี
- สะพานข้ามแยกบางพลัด
- สะพานข้ามแยกพระราม 2
- สะพานข้ามแยกตากสิน
- สะพานข้ามแยกนิลกาจ
- สะพานข้ามแยกบางพฤกษ์
ข้อ 4. ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ดังต่อไปนี้
- อุโมงค์ทางลอดวงเวียนบางเขน
- อุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม
- อุโมงค์ทางลอดแยกบรมราชชนนี
- อุโมงค์ทางลอดแยกบางพลัด
- อุโมงค์ทางลอดแยกท่าพระ
ข้อ 5. ข้อบังคับนี้มิให้ใช้บังคับแก่รถเจ้าพนักงานตํารวจขณะปฏิบัติหน้าที่
ข้อ 6. นับตั้งแต่วัน เวลา ที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ยกเลิก ข้อบังคับ กฎ ระเบียบ คําสั่งใด ที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2559
พลตํารวจตรี อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์
รองผู้บัญชาการตํารวจนครบาล ปฏิบัติราชการแทน
ผู้บัญชาการตํารวจนครบาล
เจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร
Source Cr.: mratchakitcha
Image Cr.: PPTV
อ่านข่าว News Talk เพิ่มเติมได้ที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish