สถิติที่น่าสนใจของ “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ทำไมประเทศไทยถึงมีอุบัติเหตุติด 1 ใน 10 ของโลก
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (Thailand Accident Research Center) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย แถลงความคืบหน้าการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใน “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” (In-depth Accident Investigation in Thailand)
ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ฮอนด้าและยามาฮ่า เพื่อเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ตั้งเป้าที่ 1,000 เคส ระหว่าง พ.ศ. 2559 ถึง 2563 ซึ่งล่าสุดเก็บข้อมูลแล้ว 600 เคส พบปัญหาเบื้องต้นคือผู้ใช้รถขาดทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุ การควบคุมรถและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แนะวิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนควรพัฒนาทักษะให้กับผู้ขับขี่เป็นลำดับแรก
ภายในงานได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยทางถนน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), มร.อะซึชิ โอกาตะ กรรมบริหารระดับสูง บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, มร.โนะบุฮะรุ ทะคะฮาชิ ประธานบริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ เอเชียน เซ็นเตอร์ จำกัด และ รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ร่วมงานแถลงข่าว
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้วิจัยหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท เอเชี่ยน ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด และ บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด
มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสม โดยทำการวิจัยจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 1,000 เคส ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 ล่าสุดโครงการ ได้เก็บข้อมูลแล้วรวมทั้งสิ้น 600 เคส และกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีข้อค้นพบเบื้องต้นที่น่าสนใจดังนี้
1. ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ มักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่น หรือชนกับวัตถุข้างทาง แต่หากรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มเองอุบัติเหตุจะรุนแรงน้อยกว่า ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตต่ำกว่าการชนกับรถคันอื่น ทั้งนี้รถยนต์คันอื่นที่ชนกับรถจักรยานยนต์ และทำให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ ตามมาด้วย รถบรรทุกและรถที่จอดอยู่ข้างทาง
2. รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่พบบ่อยมากที่สุด คือ การเลี้ยวตัดกระแสจราจรทางตรง ณ จุดตัดประเภทต่างๆ เช่น จุดกลับรถ ทางแยก ทางเข้าออกซอยต่างๆ แต่รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่งผลให้มีผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุด คือ การชนที่ด้านหน้า และการชนท้ายรถคันอื่น รวมถึงการชนกับรถขณะกำลังเลี้ยวในบริเวณจุดตัดต่างๆ
3. สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ มาจากปัจจัยด้านบุคคลเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 94 แบ่งเป็น สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 54 และสาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของคนขับรถยนต์คันอื่น ร้อยละ 40 ส่วนสาเหตุจากถนนและยานพาหนะ มีเพียงร้อยละ 4 และร้อยละ 2 ตามลำดับ
4. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการประเมินสถานการณ์ (Perception Failure) ถึงร้อยละ 52 ความผิดพลาดในการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) ร้อยละ 21 และความผิดพลาดในการควบคุมรถ (Reaction Failure) ร้อยละ 19
นอกจากนี้ยังพบว่า ร้อยละ 26 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด มีสาเหตุจากความไม่ตั้งใจในการขับขี่ (Attention Failure) และร้อยละ 32 ของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดจากการทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (Faulty in Traffic Strategy)
5. ร้อยละ 48 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากผู้ขับขี่ไม่สามารถหลบหลีกหรือเบรกได้ทัน เพราะเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน อีกทั้งผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์กลุ่มนี้ยังมีสภาพร่างกายปกติ ไม่มีอาการง่วงหรือเมาแต่อย่างใด และขับขี่ด้วยความเร็วปกติระหว่าง 30-60 กิโลเมตรต่อ ชั่วโมง
6. ร้อยละ 40 ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อย่างไรก็ตามในกลุ่มผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่ ปรากฏว่าร้อยละ 50 เป็นการชนที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชนเช่นเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะมีใบอนุญาต แต่ก็ยังขาดทักษะในการหลีกเลี่ยงการชน
7. มากกว่าร้อยละ 85 ของอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์นั้น เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัย แต่เรียนรู้วิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์จากสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือฝึกขับขี่ด้วยตนเอง
8. มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ว่า มากกว่าร้อยละ 60 ของผู้เสียชีวิตไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่
9. ร้อยละ 15 ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการขับขี่ขณะมึนเมา และในกลุ่มนี้ยังพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “จากข้อค้นพบดังกล่าว นำไปสู่สมมติฐานที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดสองประการ ประการแรกคือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยยังขาดการเรียนรู้ทักษะการขับขี่อย่างปลอดภัย ทำให้ขาดความสามารถในการขับขี่รถจักรยานยนต์ และมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น
และอีกประการคือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดการเรียนรู้ด้านการคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ จะเห็นได้จากการที่ผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่ไม่ทราบหรือไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง และอันตรายที่จะเกิดกับตัวเอง และไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที หรือบังคับรถเพื่อหลบหลีกได้อย่างปลอดภัยเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน”
จากข้อมูลเบื้องต้นนี้ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อ สรุปและเสนอแนะว่า มาตรการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ควรดำเนินการเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างเร่งด่วนคือ การพัฒนาทักษะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รอบด้าน โดยจะมุ่งเน้น 3 ด้าน ได้แก่ การคาดการณ์อุบัติเหตุ การตัดสินใจที่ถูกต้อง และการควบคุมรถอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย จะได้รายงานผลการวิจัยเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลการวิจัยต่อไป
Source Cr.: ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย , matichon
อ่านข่าว News Talk เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish