Home  »  General Tips   »   เติมลมตอน “ยางร้อน” vs “ยางเย็น” ต่างกันยังไง ?

เติมลมตอน “ยางร้อน” vs “ยางเย็น” ต่างกันยังไง ?

Bridgestone battlax

“แรงดันลมยาง” อาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าไม่ซับซ้อนมากนัก แค่เติมตามค่าที่กำหนดไว้ก็จบไป ไม่ต้องคิดอะไรต่อ แต่ในความจริงมันอาจไม่ได้จบแค่นั้น เพราะในบางกรณีเราอาจจะต้องดูเรื่องของ “อุณหภูมิยางขณะเติมลม” หรือ “ตรวจวัดแรงดันลมยาง” เพิ่มเติมด้วย

เข้าใจเรื่องแรงดันลมยางที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานก่อน

 

หลายคนคงพอทราบกันดีอยู่แล้ว ว่าหนึ่งในสิ่งที่คนใช้รถอย่างเราควรรู้ เพื่อให้รถของเราสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย คือการหมั่นตรวจเช็คแรงดันลมยางที่อยู่กับล้อรถของเราให้มีความเหมาะสมตามกำหนด ไม่ว่าจะโดยผู้ผลิตรถเอง ซึ่งส่วนมากจะมีการระบุเลขค่าแรงดันลมยางที่เหมาะสมไว้บริเวณสวิงอาร์ม หรือ จากผู้ผลิตยาง ที่จะมีการระบุแรงดันลมยางที่เหมาะสมไว้ในเว็บไซต์ของแบรนด์ก็ด้วย

 

เพราะหากค่าลมยางผิดเพลี้ยนไปจากที่ผู้ผลิตรถ หรือผู้ผลิตยางกำหนดไว้ มันก็จะทำให้ยางไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และสร้างแรงยึดเกาะได้อย่างเต็มที่ในแบบที่มันควรจะเป็น

Bridgestone battlax

โดยหากเราเติมลมอ่อนเกินไป หน้ายางอาจจะสามารถกางและมีพื้นที่ในการสร้างแรงยึดเกาะมากขึ้น แต่ในบางครั้ง หน้ายางก็อาจจะกางมากเกินไปจนหน้ายางมีแรงเสียดทางกับพื้นถนนมาเกินที่ควรจะเป็น ทำให้รถเลี้ยวยาก หน้าหนืด หรือกินกำลังเครื่อง

 

ไม่พอ หากแรงดันลมต่ำมากจริงๆ หน้ายางตรงกลางอาจจะมีการโก่งเข้าไปด้านใน และทำให้สูญเสียพื้นที่ผิวสัมผัสกับพื้นถนนตรงกลางไปแทน และการที่ไม่มีลมยางมาช่วยค้ำโครงสร้างยางด้านใน ทำให้ยางยิ่งผิดรูปได้ง่าย ยางจึงจะมีความยวบยาบ และทำให้รถรักษาการทรงตัวได้ไม่ดีตามมาด้วย

 

ในทางกลับกัน หากเราเติมลมยางแข็งจนเกินไป ยางอาจเป่งมากเกินไป ยุบตัวได้ยากมากเกินไป จนทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสของยางลดน้อยลง เพราะมันไม่สามารถกางหน้ายางเพื่อสร้างพื้นที่ผิวสำหรับยึดเกาะถนนได้ดีเท่าที่ควร, ยางให้ตัวได้ยากขึ้น ทำให้มันซับแรงได้ยากกว่าเดิน เกิดการกระเด้งกระดอน และหน้ายางอาจไม่สามารถสัมผัสกับผิวถนนได้สม่ำเสมอมากพอ

 

และด้วยแรงดันที่สูงในตัวยาง จึงทำให้หากยางโดนกระแทกในจังหวะตกหลุม หรือใดๆขึ้นมา ยากก็จะแตกได้ง่ายกว่าปกติเช่นกัน

Bridgestone battlax

แล้วอุณหภูมิ เกี่ยวข้องอย่างไรกับแรงดันลมยาง ?

 

หากว่ากันตามหลักวิทยาศาสตาร์ซึ่งหลายคนคงเคยเรียนกันตั้งแต่ช่วงมัธยมปลาย เราก็คงจะพอทราบกันดีว่า อุณหภูมิ ความร้อน และ ความเย็น ล้วนมีผลต่อปริมาตรของวัตถุต่อสสารแทบทุกสิ่งอย่างบนโลก ยกตัวอย่างเช่น เหล็ก ที่จะขยายตัวเมื่อโดนความร้อน และหดตัวเมื่อเย็น

 

ซึ่งตัว “อากาศ” เอง ก็ถือเป็นอีกมวลสารหนึ่ง ที่สามารถแปรเปลี่ยนปริมาตรและแรงดันได้ ตามอุณหภูมิที่เป็นอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นๆเช่นกัน โดยมีตัวเลขอัตราการเปลี่ยนแปลงแรงดันในหน่วย PSI ที่บวกหรือลบ 0.32% ต่ออุณหภูมิ 1 องศาเซลเซียส จากการคำนวนด้วยสูตรความสัมพันธ์ของแก๊สตาม “กฎของบอยล์, กฏของชาร์ล, และกฏของเกย์-ลูสแซก” (ซึ่งเราขอข้ามการอธิบายแบบลึกๆในส่วนนี้ไป เพื่อไม่ให้บทความดูวิชาการจ๋าเกิน แต่หากใครที่สนใจสามารถหาข้อมูลกันต่อไปก็สามารถพิมพ์หาข้อมูลเรื่องนี้ในกูเกิ้ลเพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้เลย)

Bridgestone battlax

หรือหากให้ยกตัวอย่างง่ายๆอีกนิด ก็อย่างเช่น หากคุณเติมลมยางด้วยแรงดัน 30 PSI (ราวๆ 2.07 Bar) ในตอนที่ยางมีอุณหภูมิราวๆ 32 องศาเซลเซียส เมื่อคุณขี่รถจนยางถนนที่ใส่อยู่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานทั่วไปคือราวๆ 60 องศาเซลเซียส แรงดันในลมยางก็จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ราวๆ 32.77 PSI

 

ดังนั้น หากเป็นการใช้งานทั่วๆไป ทางที่ดีเราควรจะต้องเติมและตรวจแรงดันลมยาง ตั้งแต่ตอนที่ยางยังเย็นอยู่ เพื่อให้ยางทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ผู้ผลิตแนะนำ หรือหากคุณจำเป็นจะต้องเติมลมยางตามปั๊ม ที่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการเติมตอนที่ยางยังร้อนอยู่ เราก็อาจจำเป็นที่จะต้องเติมลมเผื่อสัก 2-4 PSI เพื่อชดเชยอุณหภูมิของลงภายในยางที่สูงขึ้นมา และเมื่อยางเย็นตัวลง ค่าแรงดันลมยาง ก็ยังอยู่ในช่วงที่ผู้ผลิตแนะนำอยู่นั่นเอง

 

ส่วนกรณีการใช้งานยางที่เกิดมาเพื่อลงสนามแข่งขันโดยเฉพาะ เช่น ยางสลิค อย่าง Bridgestone Racing Battlax V02 หรือกึ่งสลิค Bridgestone Racing Battlax R11 ไม่เว้นแม้กระทั่งยางสปอร์ตสนามกึ่งถนน Bridgestone Battlax Racing Street RS10

 

ก็เชื่อว่าส่วนใหญ่เหล่านักแข่ง ก็มักจะมีทีมช่าง ที่ใช้ผ้าห่มยาง เพื่อทำให้ยางร้อน และมีอุณหภูมิเหมาะสมสำหรับการใช้งาน และสามารถเติมแรงดันลมยางตามค่าที่ผู้ผลิตแนะนำได้เลยอยู่แล้ว (ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ผลิตส่วนมากจะมีการระบุค่าแรงดันลมยางแนะนำ เมื่อยางถูกอุ่นให้ร้อนด้วยผ้าวอร์มยางและมีอุณหภูมิพร้อมใช้งาน สำหรับยางกลุ่มนี้ ไว้ให้อยู่แล้ว)

Bridgestone battlax

แต่หากใครที่ไม่สามารถหาผ้าวอร์มยางมาใช้ได้ แล้วดันใส่ยางกลุ่มนี้อยู่ งานนี้ก็อาจจะต้องคำนวณ หรือเผื่อแรงดันลมยางให้ดี เพราะหากคุณเติมลมยางในระดับที่เคยชินกับยางถนน เมื่อยางที่ถูกหวดอยู่ในสนามร้อนขึ้นมาจริงๆ แรงดันลมยางก็อาจจะเกินจากค่าที่ควรจะเป็นไปมาก

 

เช่นหากคุณเติมแรงดันลมยางตอนก่อนออกจากพิทด้วยแรงดัน 30 PSI ที่อุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส พอถึงเวลาหวดในสนามที่ยางถูกใช้งานหนักและสะสมความร้อนกับตัวไว้มาก ซึ่งบางครั้งอาจสูงถึง 90 องศาเซลเซียส นั่นก็หมายความว่าแรงดันลมยางในขณะนั้น อาจสูงถึง 35.7 PSI หรือเพิ่มจากตอนแรกถึงเกือบ 6 PSI กันเลยทีเดียว

 

ดังนั้นคุณจึงอาจจะต้องเผื่อแรงดันลมยางให้ลดต่ำลงหน่อย แต่หากต่ำเกินไป นอกจากคุณจะเจอปัญหาเรื่องเนื้อยางที่ไม่พร้อมใช้งานตั้งแต่รอบแรกๆแล้ว ตัวโครงยางก็อาจจะเสียศูนย์หนักจนคุณควบคุมรถได้ยาก ซึ่งเสี่ยงอันตรายด้วย

Bridgestone battlax

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่คุณเลือกใช้ยางสปอร์ตสำหรับวิ่งถนน เอามาลงสนาม เช่น Bridgestone Battlax Hypersport S22/S23 การจะลดลมยางเผื่อตอนยางร้อนขณะวิ่งในสนาม จะยิ่งไม่สามารถลดเผื่อได้เยอะมากนักเหมือนยางสนาม เนื่องจากตัวโครงสร้างยางไม่ได้ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานตอนยางมีแรงดันลมในยางต่ำมากนัก

 

เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนำเอาค่าลมยางของยางสลิค หรือยางกึ่งสลิคมาใช้กับยางถนน โดยจากประสบการณ์ผู้เขียนเอง ก็ได้รับคำแนะนำมาจากช่างทีมแข่งเช่นกันว่า หากเป็นยางถนน ถึงจะเซ็ทลมเผื่อลงสนามยังไง ระดับแรงดันลมยาง ก็จะต้องสูงกว่าค่าของยางสลิคสักหน่อยอย่างน้อยก็ +2 หรือ +3 PSI จากค่าที่ยางสลิคนิยมใช้กัน

 

อย่างไรก็ดี เรื่องของค่าแรงดันลมยางที่เหมาะสม ผู้ผลิตส่วนใหญ่มักมีการขึ้นข้อมูลแรงดันลมยางที่แนะนำ สำหรับยางแต่ละรุ่น แต่ละขนาด ไว้ให้ลูกค้าได้นำไปใช้กันอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นทาง Bridgestone ที่มีการให้ข้อมูลแรงดันลมยางที่แนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์ยางสลิครหัส V02, กึ่งสลิค R11, หรือแม้กระทั่งยางถนนกลุ่ม Racing Street และ Hypersport ไว้ค่อนข้างครบ ดังภาพที่เราแนบไว้ข้างต้น

 

และจะสังเกตได้ว่า แม้แต่ทางผู้ผลิตเอง ก็ไม่ได้ระบุเลขแรงดันลมยางเป็นค่าคร่าวๆ เนื่องจากในการใช้งานจริง ผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนหรือเลือกระดับแรงดันลมยางที่ต้องการได้เล็กน้อย แล้วแต่สถานการณ์ ทั้งในด้านสภาพผิวแทร็ค, สภาพอากาศ, หรือแม้แต่วิธีการขี่ และน้ำหนักของตัวผู้ใช้เองก็ส่งผลถึงเรื่องการเลือกแรงดันลมยางที่เหมาะสมด้วย

Bridgestone battlax

โดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่านอกจากเรื่องของค่าแรงดันลมยางที่ควรใช้ให้ถูกค่า ตามที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ในการใช้งานแบบลึกและละเอียดจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับใครก็ตามที่อยากจะลงสนาม การศึกษาข้อมูลเรื่องอุณหภูมิยางที่มีผลต่อแรงดันลมยาง ก็เป็นสิ่งที่เราควรรู้และทำความเข้าใจ เพราะถึงให้คุณไม่ได้ลงสนามเพื่อแข่งขัน แต่มันคือเรื่องละเอียดอ่อนที่ส่งผลถึงทั้งความมั่นใจในการใช้งาน และความปลอดภัยของตัวคุณเอง

 

สำหรับเพื่อนๆคนไหนที่สนใจยางรถมอเตอร์ไซค์ ที่มอบทั้งความมั่นใจ และให้สมรรถนะในการยึดเกาะอันยอดเยี่ยม ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการใช้งาน Bridgestone คือหนึ่งแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่นที่คุณไม่ควรมองข้าม ทั้งจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการออกแบบ, การพัฒนายางจากทั้งในห้องแล็ป และในสถานการณ์ใช้งานจริง แถมยังมีทางเลือกยางให้ตัดสินใจได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นยางถนนที่สามารถใช้งานได้อย่างครอบคลุม, ยางสปอร์ตที่เกิดมาเพื่อวิ่งในสนาม แต่ยังสามารถใช้งานในชีวิตประจำวันได้, หรือแม้กระทั่งยางเกรดแข่งขัน ที่นักบิดระดับประเทศหรือระดับโลกใช้กัน

 

โดยเพื่อนสามารถค้นหาตัวแทนจำหน่ายที่มีครอบคลุมทั่วประเทศอีกด้วยได้ที่นี่ และยังสามารถติดตามข่าวสารโปรโมชั่นเด็ดๆ ได้ที่ Official Facebook Fanpage ของ Bridgestone Moto Thailand

Source Cr.: Bridgestonemotorcycletyre.com, Bootcampdemy.com, National.co.uk, Twotyre.co.uk, Oponeo.co.uk

อ่านข่าว General Tips เพิ่มที่นี่

อ่านข่าว Bridgestone เพิ่มที่นี่


 

เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่

Website : motowish.com 

Facebook : facebook.com/motowish



ห้ามคัดลอกบทความหรือเนื้อหาในเว็บ Motowish