5 สิ่งที่ต้องรู้ ในการดู MotoGP ให้สนุกขึ้น!!
ก่อนหน้านี้เราได้นำข้อมูลของรถแข่ง MotoGP มาเล่าให้เพื่อนๆได้รู้จักกันแล้ว ครั้งนี้มาต่อกันที่ 5 สิ่งที่ต้องรู้ในการดู MotoGP แล้วจะทำให้เชียร์ได้สนุกขึ้นกว่าเดิม
บทความนี้จะพูดถึง 5 หัวข้อที่เป็นพื้นฐานของการแข่งขัน MotoGP เลยก็ว่าได้ จะทำให้คนที่ไม่ได้ติดตามได้รู้จักเกมส์การแข่งขันชนิดนี้มากขึ้นกว่าเก่า มา… เริ่มกันเลย!!
1. ทีมแข่ง
MotoGP จะแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
1. Factory Team
ทีมโรงงาน หรือจะเรียกอีกอย่างว่าทีมผู้ผลิตก็ได้ ทีมประเภทนี้เป็นทีมที่มีทรัพยากรมหาศาล และได้รับการสนับสนุนเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี, วิศวกรรม, กำลังคน หรือเม็ดเงินลงทุน อย่างเช่น Repsol Honda, Movistar Yamaha, Ducati Team, ECSTAR Suzuki, Red Bull KTM และ Aprilia Gresini
2. Satellite Team
ทีมสนับสนุน หรือเรียกว่าทีมที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตนั่นเอง ทีมเหล่านี้มีงบประมาณไม่มาก ดังนั้นผู้ผลิตจะช่วยในการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของตัวรถ เครื่องยนต์ หรือชิ้นส่วนหลักต่างๆ แต่ทีมเหล่านี้หลังจากมีการเปลี่ยนกฎให้ใช้ ECU กลางตั้งแต่ปี 2016 จะเห็นได้ว่าพวกเขาสามารถก้าวขึ้นมาสู้กับทีมโรงงาน และโลดแล่นบนแถวหน้าได้มากขึ้น อย่างนักบิดสุดจี๊ด Cal Crutchlow ทีมสนับสนุนเหล่านี้ได้แก่ LCR Honda, Monster Yamaha Tech3, MarcVDS Honda, Avintia Ducati, Pramac Ducati และ Aspar Ducati
2. วัน และ ช่วงระยะเวลาของการแข่งขัน
โดยปกติแล้วการแข่งขัน MotoGP จะมีการแข่งขันช่วงสุดสัปดาห์ คือ วันศุกร์-วันอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชม ให้มีเวลาว่างตามไปเชียร์นักแข่ง และทีมสุดรัก
คราวนี้มาดูกันว่า วัน และช่วงระยะเวลาของการแข่งขันเป็นอย่างไร? ในที่นี้จะขอยกตัวอย่าง เวลาในโซนยุโรปมาบอกกัน เพราะเป็นโซนที่แข่งกันบ่อยสุด แต่ทั้งนี้เวลาก็จะเปลี่ยนไปตามแต่ละประเทศที่ทำการแข่งขัน
วัน | เวลา | ช่วงเวลา | ระยะเวลา |
ศุกร์ | 09:00 – 10:00 |
Free Practice 1 (FP1) ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
ศุกร์ | 13:00 – 14:00 |
Free Practice 2 (FP2) ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
เสาร์ | 09:00 – 10:00 |
Free Practice 3 (FP3) ฝึกซ้อม / จับเวลาควอลิฟาย |
45 นาที |
เสาร์ | 13:45 – 14:15 |
Practice 4 (FP4) ฝึกซ้อม / ไม่จับเวลา |
30 นาที |
เสาร์ | 14:25 – 14:40 | Qualifying 1 (QP1) | 15 นาที |
เสาร์ | 14:50 – 15:05 | Qualifying 2 (QP2) | 15 นาที |
อาทิตย์ | 10:00 – 10:20 | Warm Up | 20 นาที |
อาทิตย์ | 14:00 | Race | 120 กิโลเมตร (โดยประมาณ) |
3. ดูการฝึกซ้อม, การควอลิฟาย และลุ้นลำดับการแข่งขัน
Free Practice – การฝึกซ้อม
การฝึกซ้อมทั้ง 3 รอบ (FP1-FP3) จะทำการจับเวลา และเลือกเวลาที่ดีที่สุดของนักแข่งแต่ละคนจากการฝึกซ้อมทั้ง 3 รอบ เพื่อเฟ้นหานักแข่งที่ทำเวลาดีที่สุด 10 อันดับแรกให้เข้าไปขี่ Qualifying 2 (Q2) ส่วนนักแข่งที่ได้ลำดับต่ำกว่าที่ 10 จะเข้าไปขี่ Qualifying 1 (Q1)
Qualifying – การแข่ง หาลำดับกริดสตาร์ท
เริ่มกันที่ Qualifying (Q1) ใช้เวลา 15 นาที โดยนักแข่งที่ได้ลำดับต่ำกว่าอันดับที่ 10 จากรอบการฝึกซ้อม จะลงมาแข่งขันกันเพื่อทำเวลาให้ดีที่สุดในการจัดลำดับกริดสตาร์ท หากในการควอลิฟาย Q1 ใครได้ลำดับที่ 1-2 ก็จะได้สิทธิ์ขึ้นไปควอลิฟายรวมกับ Q2 อีกครั้ง เพื่อแย่งกริดสตาร์ทกับกลุ่มนั้น ส่วนใครได้ลำดับ 3 เป็นต้นไปของ Qualifying (Q1) นี้ จะถูกเรียงตามลำดับกริดสตาร์ตตั้งแต่ 13 ไปจนลำดับสุดท้ายในวันแข่งขัน
Qualifying (Q2) ใช้เวลา 15 นาทีเช่นกัน จาก 10 นักแข่งที่ทำเวลาดีที่สุดในลำดับ 1-10 ในรอบการฝึกซ้อม รวมถึงนักแข่งลำดับ 1-2 จาก Qualifying (Q1) รวมกันแล้วก็ 12 คน จากนั้นก็ทำการควอลิฟายหาเวลาที่ดีที่สุด เพื่อเรียงลำดับกริดสตาร์ทอันดับ 1-12 ในวันแข่งขัน
ฉะนั้นการความมันส์ของการแข่ง MotoGP จะมีให้เห็นกันตั้งแต่การซ้อมวันแรกแล้ว อย่างนักแข่งตัวท็อป ถ้าใครยังเซ็ทรถยังไม่ลงตัว เวลาซ้อมไม่ดีก็อาจจะต้องไปอยู่ใน Qualifying (Q1) และถ้าไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็ต้องเร่งทำเวลาให้ได้อันดับ 1 หรือ 2 เพื่อขึ้นไป Qualifying (Q2) อีกครั้ง ไม่อย่างงั้นอาจพลาดลำดับสตาร์ทหัวแถวก็เป็นได้
และในช่วงสุดท้ายของการ Qualifying เวลาที่เหลืออยู่อีก 10 นาที นั้นคือการขับเคี่ยวเพื่อชิงอันดับอย่างสุดตัว โดยนักแข่งบางคนจะเปลี่ยนไปใช้ยางชนิด Soft เพราะให้การเกาะผิวแทรคจะดีกว่า ถ้าใครได้มีโอกาสดูจะเห็นตารางเวลาอันดับเชือดเฉือนกันแค่เศษเสี้ยววินาที่ในรอบสุดท้ายบ่อยมากๆ ก็ด้วยสาเหตุนี้นั้นเอง
การลุ้นให้มันส์ขึ้นอีก 1 วิธีคือการดูเวลาแต่ละ Sector
แล้ว Sector คืออะไร? ถ้าคิดง่ายๆคือ การแบ่งส่วน หรือช่วงของสนาม ปกติแต่ละสนามจะมีอยู่ 4 Sector หรือ 4 ช่วงนั่นเอง (i1-i2-i3-i4) หากนักแข่งบิดผ่านช่วงต่างๆ ก็จะทำให้รู้เวลาในแต่ละช่วง และถ้ายิ่งทำเวลาในแต่ละช่วงได้เร็วกว่านักแข่งคนอื่น นั่นก็หมายความว่าเวลารวมต่อรอบก็จะน้อยกว่าแน่นอน
แต่ละ Sector เวลาของนักแข่งอาจจะทำเวลาได้สูง-ต่ำแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับการขับขี่ หรือความถนัดในช่วงนั้นๆ ซึ่งการแบ่ง Sector นี้เองจะทำให้นักแข่งรู้จุดบกพร่องของตัวเองได้ง่ายด้วย ว่าช้าตรงโค้งไหน เพื่อแก้ไขให้ขี่ได้เร็วขึ้น
ในการถ่ายทอดสดเขาจะถ่ายให้เห็นแต่ละ Sector ของนักแข่งที่กำลังลุ้นลำดับกันอยู่ นั่นแหละเป็นการดู และลุ้นลำดับที่มันส์สุดๆเลยทีเดียว
4. คะแนนการแข่งขัน
การแข่งขัน MotoGP จะได้รับคะแนนสะสมตามลำดับที่จบการแข่งขัน โดยแต่ละลำดับมีคะแนนดังนี้
อันดับที่ 1 | 25 คะแนน |
อันดับที่ 2 | 20 คะแนน |
อันดับที่ 3 | 16 คะแนน |
อันดับที่ 4 | 13 คะแนน |
อันดับที่ 5 | 11 คะแนน |
อันดับที่ 6 | 10 คะแนน |
อันดับที่ 7 | 9 คะแนน |
อันดับที่ 8 | 8 คะแนน |
อันดับที่ 9 | 7 คะแนน |
อันดับที่ 10 | 6 คะแนน |
อันดับที่ 11 | 5 คะแนน |
อันดับที่ 12 | 4 คะแนน |
อันดับที่ 13 | 3 คะแนน |
อันดับที่ 14 | 2 คะแนน |
อันดับที่ 15 | 1 คะแนน |
ต่ำกว่าอันดับที่ 15 | ไม่ได้รับคะแนนในสนามนั้น |
ส่วนแชมป์ประจำฤดูกาล จะนับคะแนนสะสมรวมทุกสนามตลอดฤดูกาล (1 ฤดูกาลมี 18 สนาม) ใครได้คะแนนสะสมสูงสุดก็รับแชมป์ไปครอง บางปียังไม่ทันจบฤดูกาล ก็ได้แชมป์ไปครองละ เพราะคะแนนลอยลำจนลำดับ 2 ตามไม่ทันก็มีบ่อยไป
5. สี และประเภทยางในการแข่งขัน
สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เป็นส่วนช่วยในการตัดสินแชมป์แต่ละสนามได้เลยนั่นคือ ประเภทของยางที่เลือกใช้ในการแข่งขัน ตั้งแต่ปี 2016 มิชลินเป็นผู้สนับสนุนหลักในเรื่องของยาง (เนื่องจากบริดจสโตนขอถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์มานานจนถึงจุดอิ่มตัว และเป็นการเปลี่ยนขนาดยางจาก 16.5 นิ้ว มาเป็นขนาด 17 นิ้ว)
ดังนั้นทุกทีมหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการใช้ยางยี่ห้อนี้ แต่สิ่งที่เลือกได้นั้นคือ ประเภทของยางที่เลือกใช้ในแต่ละสนาม ฉะนั้นการเลือกใช้ยางจะถูกนักแข่ง และวิศวกรของทีม คำนวณและเลือกใช้เป็นอย่างดี เพราะการเลือกยางที่ถูกต้องในแต่ละสนาม และสภาพอากาศนั้นๆอาจหมายถึงการคว้าแชมป์ก็เป็นได้ ซึ่งมีให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
Michelin Power Slick
ยางแบบ Hard หรือเนื้อยางแบบแข็ง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเหลือง
ยางแบบ Medium หรือเนื้อยางแบบแข็งปานกลาง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเทา
ยางแบบ Soft หรือเนื้อยางแบบนิ่ม ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีขาว
Michelin Power Rain
ยางแบบ Hard หรือเนื้อยางแบบแข็ง ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีเทา
ยางแบบ Soft หรือเนื้อยางแบบนิ่ม ด้านข้างขอบยางจะเป็น สีฟ้า
ยางทั้งสองแบบนี้ดอกยางจะมีระยะถี่มากเพื่อช่วยในการรีดน้ำ
ในปี 2017 ผู้จัดได้ยกเลิกยางแบบ Intermediate และตัวยางนั้นได้เพิ่มเซ็นเซอร์ตัววัดลมยางเพิ่มขึ้นมา
ส่วนการใช้ยางสำหรับการแข่งแต่ละสนาม รวม Free Practice / Qualifying / Race
ยางสลิค : 22 เส้น แบ่งเป็น หน้า 10 / หลัง 12
ยางฝน : 11 เส้น แบ่งเป็น หน้า5 / หลัง6
เท่านั้นยังไม่พอ!! ยางที่ใช้ซ้อม และแข่งทุกเส้น เมื่อใช้แล้วต้องส่งยางคืนมิชลินทั้งหมด เพื่อป้องกันการนำไปใช้นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ด้วยนะ
เป็นไงล่ะครับเพื่อนๆอ่านหมดนี่แล้ว เริ่มเข้าใจ และอยากดู MotoGP ขึ้นมาแล้วใช่ไหม กีฬาทุกชนิดถ้าเราดูเป็น และเข้าใจอย่างลึกซึ้งมันจะทำให้เราดู และลุ้นได้สนุกมากยิ่งขึ้น ขอให้เพื่อนๆชาว MotoWish ดู MotoGP กันอย่างสนุกสนาน สำราญใจนะคร๊าบบบบ
รักใคร เชียร์ใคร ตามลุ้นพร้อมกันทั้งฤดูกาลที่ www.facebook.com/motowish และ motowish.com ได้เลย
หมายเหตุ : บทความนี้ เขียน และเรียบเรียงขึ้นเมื่อ ก.พ. 60 ก่อนเปิดฤดูกาล MotoGP 2017
ใครพลาดบทความ มารู้จักรถแข่ง MotoGP ให้มากขึ้นกันดีกว่า!! อ่านต่อได้ที่นี่
Source Cr.: MotoGP, Michelin, Bennetts
อ่านข่าว General Tips เพิ่มเติมที่นี่
อ่านข่าว MotoGP เพิ่มเติมที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish