ขับรถชน “สุนัข” ใครต้องรับผิดชอบ ประกันช่วยได้ไหม?
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า เวลาขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ไปชนกับสุนัข เมื่อเกิดความเสียหายขึ้น แบบนี้ใครจะรับผิดชอบ แล้วถ้าหากมีประกัน บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบหรือไม่?
อุบัติเหตุโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการชนสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะ “สุนัข” ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว และมีความเสียหายก็จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรับผิดชอบความเสียหาย แล้วมีกรณีไหนบ้างวันนี้มาหาคำตอบกัน
กรณีสุนัขมีเจ้าของ หากมีรถที่ขับขี่มาบนถนนไม่ว่าจะเป็นถนนหลวงทั่วไป ถนนในหมู่บ้าน ถนนพื้นที่โครงการบ้าน แล้วสุนัขตัดหน้ารถเกิดชนเข้าจังๆ รถเกิดความเสียหาย หรือตัวผู้ขับขี่เองได้รับบาดเจ็บ งานนี้บอกได้เลยว่า สุนัขผิดเต็มๆ แล้วคนที่ต้องรับผิดชอบก็คือเจ้าของสุนัขนั่นเองที่ไม่ดูแลให้ดีๆ เพราะตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 111 ระบุไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดขี่จูงไล่ตอนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทาง ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ”
การที่เจ้าของสุนัขปล่อยให้สุนัขวิ่งบนถนนสาธารณะ ไม่ยอมดูแล หรือผูกสุนัขไว้ จนทำให้สุนัขวิ่งมาบนถนนและถูกรถชน ทางเดียวที่เจ้าของจะอ้างแล้วไม่ต้องรับผิดได้ก็คือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผู้ขับขี่คนนั้นจงใจขับรถชนสุนัข กรณีนี้หากทำประกันภัยเอาไว้ก็สามารถเคลมประกันได้ก่อน หลังจากนั้นบริษัทประกันก็จะรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเอากับเจ้าของสุนัขเอง
กรณีสุนัขจรจัด หากเกิดขับรถชนกับสุนัขจรจัดไม่มีเจ้าของเข้า งานนี้คงเป็นคราวซวยเพราะไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ แต่ถ้าหากทำประกันภัยเอาไว้ก็สามารถเคลมประกันได้
กรณีชนสุนัขในพื้นที่ส่วนบุคคล หากมีการชนกับสุนัขที่มีเจ้าของบนพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น บริเวณบ้านของเจ้าของสุนัข งานนี้มีคดีพลิก เพราะว่าความผิดจะตกมาอยู่ที่ผู้ขับขี่ที่ไม่ใช้ความระมัดระวังในการขับรถต้องรับผิดชอบ
กรณีผู้ขับขี่จงใจขับรถชนสุนัข หากผู้ขับขี่เห็นสุนัขวิ่งอยู่บนถนนที่อยู่ในระยะที่ปลอดภัยทั้งสุนัขและรถของผู้ขับขี่ แต่ผู้ขับขี่กลับจงใจขับรถเข้าไปชนกับสุนัข งานนี้ผู้ขับขี่รถจะโดนข้อหาทารุณกรรมสัตว์ได้ และเจ้าของสุนัขก็สามารถเรียกค่าเสียหายจากเจ้าของรถได้อีก
เป็นอย่างไรกันบ้างหากมีอุบัติเหตุรถชนสุนัขขึ้นพอทราบกันหรือยังว่าใครต้องรับผิดชอบ ซึ่งการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้นจะต้องอาศัยบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องละเมิด ตามมาตรา 420 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่เพียงแค่กับ “สุนัข” เท่านั้น สัตว์ชนิดอื่น ตัวอย่างเช่น แมว วัว ควาย แพะ ฯลฯ ก็ใช้แนวคิดเดียวกัน
อ่านข่าว General Tips เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish