โรคบิ๊กไบค์ฮีทสโตรค ภัยเงียบฤดูร้อน…วูบเดียวถึงตาย !!!
โรคฮีทสโตรค (Heat Stroke) หรือที่เรียกกันว่า โรคลมแดด สำหรับชาวสองล้อที่ยังคงใช้ชีวิตประจำวันส่วนมากบนมอเตอร์ไซค์คันโปรด หรือบางคนที่ออกทริปรวมทั้งไปขี่รถซ้อมกันในสนามแข่ง จะต้องเจอกับสภาวะอากาศที่ร้อนสุดๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้อากาศของประเทศไทยร้อนขึ้นทุกๆปี จนมีบางคนกล่าวว่าประเทศไทยมีแค่ 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน และ ฤดูโคตรร้อน 555+
สำหรับชาวบิ๊กไบค์ซีซีสูงเครื่องยนต์ก็จะคายความร้อนออกมามาก รวมทั้งคนที่รักความปลอดภัยใส่ชุดเซฟตี้แบบชุดหนัง บวกกับอากาศรอบตัวที่ร้อนมากจัดๆรวมกันเข้าไปอีก ทำให้อุณหภูมิในร่ายกายมีการสะสมความร้อนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สาเหตุสำคัญมาจากหลายๆปัจจัยดังนี้
สาเหตุ
โรคลมแดด หรือ โรคฮีทสโตรค (Heat Stroke) เกิดจากการที่ร่างกายอยู่สภาวะที่อุณหภูมิสูง และได้รับความร้อนมากเกินไปทำให้เกิดการทำงานที่ผิดปกติ ของสมองในส่วนการควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำให้มีอุณหภูมิในร่างกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง โดยปกติเมื่อความร้อนในร่างกายเพิ่มขึ้น จะมีขบวนการกำจัดความร้อนออกจากร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต่อมใต้สมองไฮโปทาลามัสส่วนหน้า หากสมดุลนี้เสียจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้น
การจัดกลุ่มโรค
- โรคลมแดดจากการออกกำลังกาย (Exertional Heat Stroke : EHS)
มักพบในกลุ่มที่มีร่างกายแข็งแรงมาก่อน เช่น เด็กโต วัยรุ่น นักกีฬา ทหารเกณฑ์ที่ฝึกในอากาศร้อนจัด หรือผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมเกินไป ร่วมกับปัจจัยอากาศภายนอกที่มีอุณหภูมิสูง - โรคลมแดดทั่วไป (Non-exertional Heat Stroke: NEHS)
มักพบในกลุ่มผู้สูงอายุ มีโรคเรื้อรัง ผู้ที่ต้องรับประทานยา เบาหวาน ความดัน ผู้ป่วยเด็กที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ รวมทั้งพบในกลุ่มที่ใช้สารเสพติด ยาคลายกล้ามเนื้อ และยานอนหลับ
อาการของโรค
อาการสำคัญได้แก่ ตัวร้อน อุณหภูมิร่ายกายสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มีเหงื่อออกในกลุ่ม EHS และไม่มีเหงื่อออกในกลุ่ม NEHS ในช่วงอากาศร้อนขณะทำกิจกรรมหรือออกกำลังกาย มีอาการเพ้อ ความดันเลือดลดลง การทำงานของอวัยวะต่างๆล้มเหลว กระสับกระส่าย มึนงง สับสน เกร็งกล้ามเนื้อ เกิดอาการชัก หน้าแดง ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัว ลดน้อยลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้น และถึงแก่ชีวิตได้ซึ่งแตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิด โรคฮีทสโตรก ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬาและทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด
โดยกลไกการทำงานของร่างกายหลังจากได้รับความร้อน จะมีการปรับตัวโดยส่งน้ำ หรือเลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายใน เช่น สมอง ตับ และกล้ามเนื้อ ทำให้ผิวหนังขาดเลือดและน้ำไปเลี้ยง จึงไม่สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้
การช่วยเหลือเบื้องต้น
นำผู้ที่มีอาการเข้าในร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ถอดเสื้อผ้า ใช้น้ำเย็นประคบบริเวณ ใบหน้า ข้อพับ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน ใช้น้ำเย็นราดลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย ให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน และรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วนที่สุด
การรักษาผู้ป่วย
โรคลมแดดเป็นภาวะเร่งด่วนทางการแพทย์ที่ต้องรีบให้รักษาทันที ต้องรับคนไข้ไว้ติดตามอาการต่างๆ ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 48 ชั่วโมง โดยการรักษาดังนี้
- ลดอุณหภูมิร่างกายลง โดยค่อยๆลดอุณหภูมิลงมาที่ 39 องศาเซลเซียส ห้ามลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็วเกินไป โดยพ่นละอองน้ำ ใช้น้ำอุ่น ร่วมกับเปิดพัดลมเป่า จะช่วยระบายความร้อนได้ดีทีสุด ปลอดภัยกว่าการจุ่มลงในน้ำผสมน้ำแข็ง ซึ่งทำให้เกิดการหนาวสั่น เส้นเลือดหดตัวทำให้ความร้อนยิ่งเพิ่มขึ้น
- การลดความร้อนวิธีอื่นๆ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนชัดเจนแต่ยังสามารถทำได้ เช่น การใส่สายเข้าไปในกระเพาะอาหาร ช่องท้อง และทวารหนัก แล้วทำการล้างด้วยน้ำเย็น การใช้ออกซิเจนเย็น
- ให้สารน้ำทางหลอดเลือด การให้สารน้ำอย่างพอดี ถ้าพบว่ามีการสลายกล้ามเนื้อ มีเลือดออกในปัสสาวะ อาจต้องให้สารน้ำมากขึ้น และต้องเฝ้าระวังการ จดบันทึกการขับถ่ายปัสสาวะ
- แก้ไขภาวะน้ำตาลในเลือด หากพบว่ามีภาวะน้ำตาลต่ำ
- เฝ้าระวังการผิดปกติของระบบต่างๆ และรีบแก้ไขทันที
การป้องกัน
- พักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนการเดินทางออกทริป หรือลงขับขี่ในสนามแข่ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ หรือ ดื่มน้ำเป็นระยะๆ ให้ได้อย่างน้อย 2 ลิตร/วัน
- หลีกเลี่ยงอากาศร้อน ถ่ายเท ไม่สะดวก หากร้อนมากควรพยายามลดความร้อน โดยอาบน้ำ เปิดแอร์ เปิดพัดลม
- ไม่ควรออกกำลังกายหักโหม หากรู้สึกเหนื่อยมากควรรีบพักทันที ควรมีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังออกกำลังกาย หรือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ ละ 30 นาที เพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัด
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนาเกินไป สามารถระบายอุณหภูมิความร้อนและป้องกันแสงแดดได้ดี
- หากต้องทำงานกลางแจ้งควรสวมหมวกป้องกัน หรือเตรียมตัวออกกำลังกายกลางแจ้งล่วงหน้า เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ หรือ ยาบางชนิดที่เพิ่มความร้อนให้ร่างกาย รวมทั้งยาเสพติดทุกชนิด
Source Cr.: กรมอุตุนิยมวิทยา , ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ , กรมการแพทย์ , bilogisma , rekordmoot , motorbikewriter
อ่านข่าว General Tips เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish