10 ข้อสำคัญ “เรื่องไม่ลับแต่บางทีก็ไม่รู้” เทคนิคและการเตรียมตัวขี่รถออกทริปขึ้นเขาในฤดูหนาว
10 ข้อสำคัญ สำหรับไบค์เกอร์มือใหม่และมือเก่าที่ยังไม่เคยขี่รถออกทริปขึ้นดอยขึ้นเขา รวมทั้งไม่เคยไปฝ่าหมอกในฤดูหนาว ควรเตรียมตัวให้พร้อมดังนี้
1. เริ่มที่เรื่องเบสิคกันก่อน นั้นก็คือการตรวจเช็ครถเบื้องต้นให้มีความพร้อมก่อนการเดินทาง
- เช็คระบบไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ แตรรถ เช็คน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำยาหล่อเย็น ให้อยู่ในระดับที่กำหนด
- ผ้าเบรคหน้าและหลังควรมีความหนาเกินกว่า 3-4 มิลลิเมตร ขึ้นไป บริเวณข้อต่อของสายเบรคไม่มีรอยแยกหรือฉีกขาด
- ฟิวส์สำรองและเครื่องมือติดรถต้องมีพร้อม
- โซ่ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ฉีดน้ำยาทิ้งไว้ตั้งแต่คืนก่อนออกเดินทาง
- ถ้าต้องเดินทางระยะไกลมากๆยางรถควรมีความหนาของหน้ายาง เหลือครึ่งหนึ่งเป็นอย่างน้อย พร้อมเตรียมชุดแทงไหมสดเมื่อยางแตกระหว่างทาง
2. รถที่ติดตั้งไฟหน้าแต่งแบบไฟซีนอน ที่มีค่า K (Kelvin คืออุณหภูมิของแสงสว่าง) เกินกว่า 6000K ขึ้นไป หรือมีลำแสงสีขาว เวลาเจอหมอกจะทำให้ถนนขาวโพลนไปหมด ทำให้ยากแก่การมองเห็นถนนข้างหน้า วิสัยทัศน์ไม่ดีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุสูงเพราะไม่สามารถเห็นรถหรือสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้ ควรใช้ไฟหน้าแบบที่มีลักษณะลำแสงออกไปในโทนสีเหลืองจะส่องสว่างตัดหมอกได้ดีกว่าไฟสีขาว โดยไฟหน้ามาตราฐานจากโรงงานส่วนมากจะอยู่ในโทนออกสีเหลือง
3. เตรียมอุปกรณ์ในการขับขี่ ถ้าอากาศเย็นมากๆให้สวมถุงมือยางก่อนใส่ถุงมือขี่มอเตอร์ไซค์ จะช่วยลดความเย็นจากลมที่ทะลุผ่านถุงมือเข้ามาได้ระดับหนึ่ง หลังจากใส่เสื้อหรืออินเนอร์แล้วสามารถสวมเสื้อกันฝนแบบบาง ก่อนสวมใส่เสื้อการ์ดหรือเสื้อหนัง ก็สามารถลดความเย็นได้อีกเช่นกัน
หมวกกันน็อคขึ้นฝ้าที่ชิลด์ ต้องเช็คดูหมวกที่ใช้ว่ายี่ห้อรุ่นนั้นๆ มีอุปกรณ์ช่วยลดฝ้าที่สามารถใส่เพิ่มบริเวณจมูกได้หรือไม่ ถ้าไม่มีก็อาจจะแก้ขัดด้วยการเปิดช่องระบายอากาศบริเวณปาก หรือเปิดชิลด์หมวกเล็กน้อยก็สามารถลดอาการฝ้าที่ขึ้นชิลด์หน้าได้
4. ก่อนออกเดินทางแต่ละครั้งในตอนเช้า เนื่องจากอากาศเย็นทำให้อุณหภูมิของเครื่องยนต์จะร้อนช้ากว่าปกติ ควรสตาร์ทอุ่นเครื่องรอไว้ก่อนแต่งตัวได้เลย เพราะในบางพื้นที่ๆอากาศเย็นถึงระดับ 0 องศา อาจจะต้องใช้เวลาวอร์มเครื่องถึง 5 นาที
5. ตอนเช้าๆที่หมอกลงและแดดยังไม่ส่องพื้นถนนนั้น เป็นช่วงจังหวะที่จะโชว์สไลด์รถกันได้ง่ายๆ ก็เพราะบนพื้นถนนยังมีไอน้ำเกาะอยู่ และด้วยโมเลกุลของน้ำที่มีลักษณะเป็นวงกลมลอยอยู่บนพื้นผิว ก็เหมือนเวลาที่ฝนตกบนถนนใหม่ๆจะรู้สึกว่าพื้นมันลื่นกว่าตอนถนนเปียกมากๆ เมื่อบวกกับผิวยางของรถที่อุณหภูมิยังร้อนไม่เท่าที่ควร ยิ่งเป็นถนนที่มีลักษณะขึ้นเขาลงเขาด้วยแล้วอุบัติเหตุจึงเกิดขึ้นกันได้ง่ายๆแบบไม่ทันตั้งตัว ฉะนั้นขี่แบบสลาลอมเปิดหน้ายางและวอร์มยางก่อนขับขี่ทุกครั้ง
6.ใช้รอบเครื่องยนต์ให้เหมาะกับสภาพถนน การขี่รถขึ้นภูเขาหรือถนนลักษณะทางชันคดเคี้ยว ไบค์เกอร์จำเป็นต้องประเมินสภาพถนนด้านหน้าว่าอยู่ในช่วงจังหวะที่ขึ้นเขาหรือลงเขา จำเป็นต้องใช้เกียร์ให้สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ ควรเลี้ยงรอบเครื่องให้อยู่ในช่วงรอบกลางๆ เพื่อที่ให้เครื่องยนต์มีเอนจิ้นในการช่วยดึงรถไม่ให้มีความเร็วมากจนเกินไป และไม่ควรกำคลัทช์ลงเขาหรือเข้าโค้งเพราะจะทำให้รถไม่มีแรงฉุด ซึ่งทำให้รถหลุดโค้งได้ง่ายๆ
7. ทางแยก ทางกลับรถ จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ควรลดความเร็วทุกครั้งที่ถึงบริเวณดังกล่าว และเว้นระยะห่างจากรถคันข้างหน้าไว้ เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้มีระยะเบรคได้ทันท่วงที หรือใช้เทคนิคการเว้นระยะแบบสลับฟันปลา เพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์ข้างหน้าได้ง่ายขึ้น
8. หากรถเสียในขณะที่มีหมอกลง หาที่หลบให้พ้นบริเวณไหล่ทางหรือถนน และจอดเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อง่ายต่อการสังเกต และเป็นการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้อีกด้วย
9. ควรพักผ่อนให้เพียงพอและงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชิมได้แต่อย่างถึงขั้นอาบ เพราะเวลาขับขี่รถต้องใช้สติและสมาธิอยู่ทุกวินาที เผลอวูบไป 3 วิ !!! ตื่นมาอีกทีอาจจะนอนอยู่ที่โรงพยาบาลก็เป็นได้ ???
10. บันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินในพื้นที่ๆเราจะเดินทางไป เพราะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดแล้วค่อยหาเบอร์โทรจะทำให้เสียเวลามากกว่า เพราะเวลาทุกวินาทีของการเกิดอุบัติเหตุ หมายถึงนาทีชีวิตที่หมดลง
ด้วยความปรารถนาดีจากทีมงาน MotoWish อยากให้เพื่อนๆทุกคนเดินทางกลับบ้านไปหาคนที่เรารัก และคนที่รักเราอย่างปลอดภัย…
อ่านข่าว General Tips เพิ่มที่นี่
อ่านข่าว Reviews เพิ่มที่นี่
เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่
Website : motowish.com
Facebook : facebook.com/motowish