Home  »  Garage Tips   »   PD Damper คืออะไร? ใช่กันสะบัดรึเปล่า

PD Damper คืออะไร? ใช่กันสะบัดรึเปล่า

PD Damper

“กันสะบัด” อาจเป็นชองแต่งรถชิ้นหนึ่งที่ใครหลายคนรู้จักกันดี แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ กลับมีของแต่งรถอีกชิ้นที่หน้าตาคล้ายกัน ทว่ามันกลับไม่ได้ติดตั้งไว้ที่แผงคอ เหมือนกันสะบัดที่เราคุ้นชินกันแต่อย่างใด

 

อุปกรณ์ที่ว่านี้ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “PD Damper” หรือ “Performance Damper” ซึ่งผู้ที่คิดค้น และทำออกมาขายจริงเป็นรายแรกๆ ก็คือทาง Yamaha ซึ่งได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 1989 โดยมีไอเดียมาจากช่วงเวลาที่ทางแบรนด์มีส่วนในการร่วมพัฒนาเครื่องยนต์สมรรถนะสูงให้กับผู้ผลิตรถยนต์หลากหลายแบรนด์

PD Damper

โดยนอกจากเครื่องยนต์ที่ทาง Yamaha ต้องรับผิดชอบ พวกเขายังต้องคิดค้นวิธีทำให้โครงสร้างตัวรถสามารถทำงานร่วมกับเครื่องยนต์สมรรถนะสูงได้เป็นอย่างดี ซึ่งหนึ่งในวิธีที่พวกเขาใช้ ก็คือการใส่เหล็กค้ำโช้คเข้าไป เพื่อให้โครงสร้างตัวถังมีความแข็งแรงมากขึ้น ช่วยให้รถมีความมั่นคงในเข้าโค้งมากกว่าเดิม

 

อย่างไรก็ดีการใส่เหล็กค้ำโช้คเข้าไปตรงๆ อาจจะทำให้โครงรถมีความแข็งแรงขึ้น รถสามารถเลี้ยวได้เฉียบคมขึ้น แต่มันก็ทำให้ความสั่นสะท้านต่างๆ จากทั้งเครื่องยนต์และผิวถนนส่งเข้ามาสู่ห้องโดยสารมากขึ้นเช่นกัน และท้ายที่สุดชิ้นส่วนต่างๆของตัวรถที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง จะเป็นตัวรับแรงสั่นสะเทือนแทน หรือเผลอๆอาจจะยิ่งสั่นสะเทือนมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เนื่องจากแรงสั่นจากเครื่องยนต์และผิวถนนจะยิ่งสามารถส่งผ่านโครงสร้างที่แข็งแรงมาสู่ชิ้นส่วนอื่นๆได้ง่ายยิ่งขึ้น

PD Damper

นั่นจึงทำให้ในช่วงต้นปี 2000 ทางวิศวกรของ Yamaha ได้เกิดแนวคิดใหม่ โดยเปลี่ยนวิธีการเสริมความมั่นคงของรถด้วยการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้าง ให้กลายเป็นหาชิ้นส่วนเสริมมาช่วยซับแรงสั่นสะเทือนต่างๆให้น้อยที่สุดแทน ซึ่งก็จะทำให้รถมีความมั่นคงขึ้นเช่นกัน แถมยังทำให้แรงสั่นสะเทือนเล็กๆหายไปด้วย

 

และในเมื่อไอเดียข้างต้น คือการซับแรงสะเทือนต่างๆที่เกิดขึ้น ทางวิศวกรจึงได้ทำการนำเอากลไกโช้คอัพที่ปกติก็มีหน้าที่ในการซับแรงสะเทือนต่างๆของตัวรถจากผิวถนนอยู่แล้ว มาใช้เป็นตัวช่วยซับแรงสะเทือนต่างๆที่เกิดขึ้นกับโครงสร้างตัวรถเช่นกัน

 

ถึงกระนั้นใช่ว่าทาง Yamaha จะเอากลไกของช็อกอัพมาใช้เลยตรงๆ เพราะแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นจากการสั่นไหวของโครงสร้างตัวถังและชิ้นส่วนอื่นๆยิบย่อยของรถนั้น มีลักษณะการสั่นที่ถี่แต่พลังงานน้อย ไม่เหมือนกับผิวถนนซึ่งส่วนมากมักไม่ได้มีความถี่เท่ากัน แต่มีพลังงานสูง

PD Damper

ดังนั้น กลไกภายในจึงต้องถูกออกแบบมาให้สามารถจัดการกับแรงสะเทือนที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้โดยเฉพาะ ทั้งขนาดแกน, ขนาดกระบอกน้ำมัน, ขนาดสปริง, ขนาดรูวาล์วด้านใน และการคำนวณพื้นที่ห้องน้ำมันกับห้องก๊าซไนโตรเจนของตัวแดมเปอร์ที่ต้องออกแบบด้วยสเกลละเอียดในระดับไมโครเมตร ไม่ใช่เซนติเมตร

 

โดยหลังประสบความสำเร็จในการนำไปใช้กับรถยนต์อยู่นานหลายปี เมื่อเข้าสู่ช่วงปี 2010 ทาง Yamaha ก็เริ่มนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับรถมอเตอร์ไซค์หิมะ หรือ Snow Mobile และต่อยอดมาใช้กับรถมอเตอร์ไซค์เพิ่มเติมอีกด้วย

ซึ่งประโยชน์ของการติดตั้งชิ้นส่วน PD Damper เข้าไปในรถมอเตอร์ไซค์ หลักๆแล้วก็จะคล้ายกับรถยนต์ตรงที่ มันจะช่วยซับแรงสั่นสะเทือนเล็กๆต่างๆที่เกิดขึ้นจากทั้ง เครื่องยนต์, โครงรถ, หรือการสั่นสะเทือนยิบย่อยอื่นๆที่เกิดจากชุดแฟริ่ง หรือ แฮนด์บาร์

 

และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา ก็คือการที่มันจะช่วยลดความเมื่อยล้าสะสมเมื่อขี่รถระยะไกล, ลดเสียงน่ารำคาญใจที่เกิดขึ้นจากการสั่นของชิ้นส่วนต่างๆรอบคัน และยังทำให้รถมีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งในขณะขี่ทางตรง หรือในจังหวะที่ต้องเปลี่ยนเลนไปมา แม้แต่ตอนที่รถเจอลมปะทะทางด้านข้าง ก็ยังช่วยให้รถนิ่งขึ้นเช่นกัน

PD Damper

ทั้งนี้ ข้อเสียของ PD Damper ก็ยังพอมีอยู่บ้าง เพราะด้วยความละเอียดอ่อนในการออกแบบ และทางวิศวกรจำเป็นจะต้องออกแบบจุดติดตั้งอย่างดี เพื่อให้มันอยู่ในบริเวณที่ชิ้นส่วนนี้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ดังนั้นมูลค่าของมันจึงถือว่าค่อนข้างสูง

 

หากถามว่าผลลัพท์หรือประโยชน์ที่ได้จะคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไปหรือไม่นั้น คุณก็คงต้องช่างใจกันเองอีกที

 

และทิ้งท้ายกันอีกนิดว่า แม้คนต้นคิดอุปกรณ์ชิ้นนี้จะเป็น Yamaha แต่พวกเขาก็ได้มีการให้ความร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนตกแต่งแบรนด์อื่นๆในญี่ปุ่น ให้สามารถนำลิขสิทธิ์กลไกไปทำขายเองได้ด้วย นั่นจึงหมายความว่าแม้คุณจะไม่ได้ใช้รถของ Yamaha แต่คุณก็สามารถหาของแต่งชิ้นนี้มาใส่รถของตนเองได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าผู้ผลิตของแต่งจะมีให้หรือไม่ก็เท่านั้นเอง

Source Cr.: Yamaha-Motor.com

อ่านข่าว Garage Tips เพิ่มที่นี่


 

เรื่องราว ข่าวสองล้อที่สาวกไบค์เกอร์ต้องรู้ที่

Website : motowish.com 

Facebook : facebook.com/motowish



ห้ามคัดลอกบทความหรือเนื้อหาในเว็บ Motowish